การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง(Transformative Learning)

โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 กรกฎาคม 2552

กระแสการศึกษาทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเข้าใจใหม่ เพราะคนจำนวนหนึ่งตระหนักแล้วว่า การศึกษาที่เน้นแต่เรื่องนอกตัวหรือเรื่องทางกายภาพ โดยขาดความเข้าใจในเรื่องจิตใจและจิตวิญญาณ ไม่สามารถแก้ไขวิกฤตการณ์ต่างๆ ได้ ทุกวันนี้คนยิ่งเรียน ยิ่งก้าวร้าวมากขึ้น มีอัตตามากขึ้น ยึดติดในทฤษฎี เน้นการเปรียบเทียบ มีตัวชี้วัดที่ตายตัว เอาความเก่งเป็นตัวตั้งและตัดสินถูกผิด บนพื้นฐานของการแยกส่วนเสี้ยว ซึ่งไม่ใช่ความจริง ความเป็นจริงในธรรมชาติไม่มีการแยกส่วนเสี้ยว แต่มีความเป็นทั้งหมด มีเหตุมีปัจจัยเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน

การอธิบายความจริงของสิ่งๆ หนึ่ง จะอธิบายด้วยความสัมพันธ์ของสิ่งนั้นต่อสิ่งอื่น ไม่ได้กำหนดอัตลักษณ์ตายตัว ทฤษฎีสัมพัทธภาพ (Relativity) และทฤษฎีความไม่แน่นอน (Uncertainty) ในควอนตัมฟิสิกส์ ใช้การอ้างอิงความสัมพันธ์ในการอธิบายปรากฏการณ์ในธรรมชาติ ซึ่งในวงการวิทยาศาสตร์ถือว่าทฤษฎีสัมพัทธภาพและควอนตัม เป็นทฤษฎีที่เข้าใกล้ความจริงของธรรมชาติมากที่สุด

วงการธุรกิจเริ่มเข้าใจและยอมรับเรื่องความไม่แน่นอน และความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ จึงมีการบริหารจัดการองค์กรรูปแบบใหม่ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตัวอย่างที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในกลุ่มจิตวิวัฒน์บ่อยครั้ง ได้แก่ ผู้นำกับวิทยาศาสตร์ใหม่ ของ มาร์กาเรต เจ วีทเลย์ (Leadership and the New Science; Margaret J. Wheatley) ที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างคนทำงานแบบไว้วางใจกัน และไม่มีตัวชี้วัดในองค์กร เน้นการสื่อสารองค์กรแบบไดอะล็อค หรือสุนทรียสนทนา ที่ประกอบด้วยการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) ที่ไปพ้นความเข้าใจในระดับภาษา ซึ่งเป็นลักษณะทางกายภาพ หรือ องค์กรไร้ระเบียบสู่องค์กรมีระเบียบ ของ ดี ฮ็อค (Chaordic Organization; Dee Hock) ผู้ก่อกำเนิดบัตรวีซ่า ซึ่งกล่าวว่าความไร้ระเบียบจะเข้าสู่ความมีระเบียบโดยไม่ต้องจัดการอะไร เรื่องราวชีวิตของ ดี ฮ็อค น่าสนใจมาก เขาก้าวลงจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทวีซ่า โดยการลาออกในขณะที่กำลังประสบความสำเร็จสูงสุด เนื่องจากเขาเข้าใจธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลง เข้าใจจังหวะชีวิต รู้เวลาที่สมควรจะก้าวลงจากอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงตนเอง นอกจากนี้ยังมีคนแบบ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) ที่ทำงานโดยไม่ใช้ตัวชี้วัดกับคนทำงาน แต่ใช้ความสัมพันธ์แบบไว้วางใจ ซึ่งเมื่อบริษัทของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เริ่มที่จะพัฒนาคุณค่าเรื่องความไว้วางใจ ความไว้วางใจจึงขยายออกไปสู่วงกว้างระดับโลกด้วย

ความไว้วางใจนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับจิตวิญญาณ (Spiritual Transformation) ซึ่งเกี่ยวข้องกับ ความพร้อม พร้อมที่จะไว้วางใจในมนุษย์ ไว้วางใจในธรรมชาติ โดยผ่านการพิสูจน์และเรียนรู้ด้วยตนเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในการเข้าใจคุณค่าด้านในของมนุษย์ โดยเฉพาะในตนเอง รู้จักตัวตน และวิธีละวางตัวตน ให้เชื่อมโยงและสอดคล้องประสานกับธรรมชาติ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว เป็นธรรมชาติของความไม่รู้มากกว่าความรู้ เมื่อยอมรับและตระหนักได้ว่าในธรรมชาติจริงมีสิ่งที่ไม่รู้เกือบจะทั้งหมด และทุกอย่างพร้อมจะปรับเปลี่ยน แปรเปลี่ยน จะทำให้คนมีอัตตาลดลง ไม่ยึดติดในทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งตายตัว เกิดการเรียนรู้มากขึ้น มีสติรับรู้รับฟังกันและกันมากขึ้น เห็นใจกันมากขึ้น ให้อภัยกันมากขึ้น เพราะต่างก็อยู่บนโลกของความไม่แน่นอน ไม่ชัดเจน และปัญหาในอนาคตมีแนวโน้มใหญ่โต คาดการณ์ไม่ได้มากขึ้น มองเห็นว่าสังคมมนุษย์นั้นเล็กมาก จะเกิดความอ่อนน้อมถ่อมตน และเห็นคนทั้งหลายเป็นเพื่อนร่วมทุกข์อย่างแท้จริง จะกลับมาเอาใจใส่คนรอบข้างมากขึ้น มีการสื่อสารระหว่างกัน เข้าถึงใจจริงกันมากขึ้น จะเกิดความสุข เป็นความสุขที่เกิดจากความรู้สึกมั่นคงในระดับจิตวิญญาณ บนโลกที่ไม่มีความมั่นคงในระดับกายภาพและระดับจิตใจ

ซึ่งที่ผ่านมามนุษย์ไม่ได้รับการพัฒนาในการเรียนรู้ หรือรับรู้เรื่องดังกล่าวในแวดวงการศึกษากระแสหลักเลย การศึกษากระแสหลักมักเน้นแต่เรื่องความแน่นอน แม่นยำ ชัดเจน และการผลิตซ้ำของงาน ผ่านตัวชี้วัด ซึ่งเป็นเรื่องห่างไกลกับความสัมพันธ์เท่าที่จำเป็นของมนุษย์แต่ละคน สวนทางกับความจริงโดยสิ้นเชิง

จึงเป็นที่มาของ การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) ที่เน้นการเปลี่ยนแปลงสู่ความเข้าใจใหม่ ในระดับจิตใจ และจิตวิญญาณ การหยั่งรู้ถึงความจริงของความเปลี่ยนแปลง อันมีเหตุมีปัจจัยเชื่อมโยงสัมพันธ์กันเป็นหนึ่งเดียว เกิดความไว้วางใจ เกิดความรัก และพร้อมที่จะรับฟังอย่างลึกซึ้ง

พาตนเองและมนุษยชาติทั้งหมด โลก และสิ่งแวดล้อม ออกจากความทุกข์ที่มนุษย์ร่วมกันก่อไว้ ไปสู่อิสรภาพจากความคิดและความเชื่อเดิมๆ ที่ทำให้คนเจ็บป่วย โลกเจ็บป่วย เปลี่ยนแปลงไปสู่การหยั่งรู้ในระดับความรู้สึกตัว ที่เกิดความรู้ความเข้าใจที่มีความสดใหม่ตลอดเวลา ไม่ได้มาจากการท่องจำทฤษฎี สามารถแก้ไขปัญหาตรงหน้าได้อย่างทันท่วงทีร่วมกัน การเปลี่ยนแปลงความเข้าใจใหม่นี้ เกิดขึ้นได้จากความพร้อมด้วยเหตุด้วยปัจจัยของแต่ละคน อย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งจะมีความแตกต่างไปจากการเปลี่ยนไป (Change) ที่ไม่ได้บ่งบอกคุณลักษณะของการเปลี่ยนแปลง ว่าเปลี่ยนไปสู่ความเข้าใจใหม่ที่เกี่ยวกับความจริงของธรรมชาติอย่างไร

การศึกษานี้ไม่สามารถเรียนรู้จากทฤษฎี หรือการบอกให้เชื่อ แต่ต้องผ่านการพิสูจน์และใคร่ครวญด้วยตนเอง ซึ่งการเรียนรู้และจริตในการเข้าถึงความจริงของแต่ละคนจะแตกต่างกัน เรียนบ้าง เล่นบ้าง หลับบ้าง ทดลองบ้าง การเรียนจึงประกอบด้วยวิธีที่หลากหลาย ครูผู้สอนเป็นเพียงผู้เอื้อให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้ผ่านกิจกรรม ซึ่งโดยพื้นฐานและหัวใจของการเรียนรู้นั้น จำเป็นต้องประกอบด้วยการเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ มีพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้อย่างไม่ตัดสินถูกผิด เชื่อใจ และไว้วางใจ กระบวนการเรียนรู้จึงเกิดขึ้นได้ด้วยตนเองอย่างเป็นอิสระ เมื่อแต่ละคนได้ค้นพบความจริงที่ยิ่งใหญ่กว่าทฤษฎีที่ตนรับรู้มา จึงจะยอมละวางความคิด ความเชื่อที่ตายตัว จนเกิดปรากฎการณ์การเปลี่ยนแปลง คือกลายเป็นผู้รับฟังมากกว่าผู้ตัดสิน เป็นผู้เมตตากรุณามากกว่าเป็นคนเก่ง ผู้เรียนจะกลายเป็นผู้ที่มีความสุขสงบลึกๆ ในใจ แม้กระทั่งตกอยู่ในสภาวะที่กำลังเผชิญปัญหา เนื่องจากสามารถก้าวข้ามตัวตนหรือกรอบที่ครอบงำหรือความเชื่อเดิม ที่ไม่เชื่อมโยงกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันขณะ จากนั้นจะเกิดความกล้าหาญขึ้น มั่นคงยิ่งขึ้น เข้มแข็งยิ่งขึ้น อีกทั้งความเจ็บป่วยต่างๆ ลดลง

จะเป็นเรื่องที่น่ายินดีขนาดไหนหากมีประชากรที่มีคุณภาพในการรับฟังผู้อื่นอย่างมากมายในประเทศ เป็นประชากรที่มีความสุขจากการเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต จะไม่เกิดการเสียเวลาโต้แย้งทางความคิดในเรื่องการใช้ชีวิตให้มากความ เพราะการเข้าถึงความจริงไม่สามารถคิดๆ เอา แต่ต้องผ่านการพิสูจน์ด้วยตนเอง และทุกคนมีเวลาเป็นของตนเอง ผ่านความเชื่อมั่น ไว้วางใจของคนรอบข้างและสังคมโดยรวม

ผู้เขียนมีความหวังอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะตื่นขึ้นมาเป็นผู้นำในการศึกษาเรื่องนี้ได้ โดยไม่ยึดติดกับกระแสตัวชี้วัดของโลกวัตถุ ที่เน้นการผลิตซ้ำ กลับมาตั้งสติดีๆ มีความเข้มแข็งที่จะเปลี่ยนแปลงการศึกษาของมนุษย์ เพื่อเป็นประโยชน์แก่โลกใบเล็กๆ นี้ร่วมกัน

 


เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2555 | อ่าน 3667
เขียนโดย

       
 
 
  อ่าน ความรู้คู่คุณธรรม อื่นๆ
 
หลักชาวพุทธ 12 ประการ
ปัจจุบัน ปัญหาสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฏชัดในสังคม คือการที่คนมากมายเป็นชาวพุทธกันเพียงในนาม โดยไ
27/01/2559
เปิดอ่าน 18524
 
ระเทศไทยจัดวิสาขโลก ครั้งที่ 15 เชิดชูกษัตริย์นักพัฒนา
16/10/2560
เปิดอ่าน 9755
 
วิปัสสนาเบื้องต้น
30/03/2560
เปิดอ่าน 11138
 
จิตวิทยาการแนะแนวเชิงพุทธ : แนวคิด หลักการและแนวปฏิบัติ
21/03/2559
เปิดอ่าน 15197
 
แด่ ยุวชน
แด่ยุวชน....สามสิ่งที่เธอต้องเรียนรู้และฝึกฝนสามประการแรก คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ผสมผสานเข้าไปในชีวิ
27/01/2559
เปิดอ่าน 12074
 
ครุศาสตร์ มจร.เปิดรับสมัครนิสิต ปริญญาโท สาขาจิตวิทยาการศึกาาและการแนะแนว รุ่นที่๒
22/11/2558
เปิดอ่าน 11093
 
ครุศาสตร์ มจร.เปิดรับสมัครนิสิต ปริญญาตรี สาขาการสอนพระพุทธศาสนาและจิตวิทยาแนะแนว
22/11/2558
เปิดอ่าน 11026
 
ปฏิญญากรุงเทพฯ ๒๕๕๘
เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๒ ผู้แทน ๓๔ ประเทศได้เสนอต่อที่ประชุมสมัชชา สหประชาชาติให้วันวิสาขบูชา ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนพฤษภาคม เป็นวันสำคัญสากลของโลก และขอให้มีการจัดงานฉลองที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ และสำนักงานประจำ ภูมิภาคต่างๆ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้มีมติรับรองตามนั้น (ในสมัยที่ ๕๔ วาระที่ ๑๗๔)
02/06/2558
เปิดอ่าน 11590
 
งานวิจัย : กระบวนปลูกฝังค่านิยมการบริโภคด้วยพุทธิปัญญาสำหรับวัยรุ่น
งานวิจัยนี้ได้รับการคัดเลือกในการนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการระดับชาติ มจร. ครั้งที่ ๑ MCU Congress 1 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อ วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ในหัวข้อพุทธบูรณาการเพื่อการพัฒนาจิตใจและปัญญา
15/03/2558
เปิดอ่าน 12872
 
ธรรมะรับอรุณ โดย ท่าน ว.วชิรเมธี
แผ่นดินนี้ ไม่อาจทำให้เรียบเสมอกันทั้งหมดได้ฉันใด มนุษย์ทั้งหลาย จะทำให้เหมือนทุกคนไม่ได้ฉันนั้น
09/02/2558
เปิดอ่าน 12108
 
 
 
 
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
เว็บไซต์และข้อมูลของโรงเรียนทุกโรงเรียนในเว็บไซต์นี้ สงวนลิขสิทธิ์ การนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์อื่นใด
ต้องได้รับการอนุญาต จากเจ้าของเว็บไซต์ก่อนเสมอ
 
สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา(สนก.)
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
ถนนราชดำเนินนอก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
โทรศัพท์ 02-288-5889-90 โทรสาร 02-288-5879
Powered by ThaiAppCenter.com ศูนย์รวมแอปมือถือไทย
โครงการสถานศึกษาวิถีพุทธ สำนักงานพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
79 หมู่ที่ 1 ถนนพหลโยธิน หลักกิโลเมตรที่ 55 ตำบลลำไทร
อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รหัสไปรษณีย์ 13170
โทรศัพท์: 083 305 2392 |
เจ้าหน้าที่เว็บไซต์เข้าสู่ระบบ
พัฒนาเว็บไซต์โดย: สคูลจ๊อบ สมัครครู ประกาศรับสมัครครู สมัครงานโรงเรียน www.schooljob.in.th